www.touronthai.com

หน้าหลัก >> กาญจนบุรี >> น้ำตกป่งป๊ง

น้ำตกป่งป๊ง

 น้ำตกป่งป๊ง เป็นน้ำตกในป่าลึกของกองม่องทะ ความสูงประมาณ 15-20 เมตร กว้างประมาณ 8 เมตร ในฤดูฝนน้ำตกจะแรงมากสวยงาม แต่มีน้ำตลอดปี สำหรับการเดินทางมาเที่ยวน้ำตกป่งป๊งจะต้องค้างแรมในป่า ตรงบริเวณลานกางเต็นท์ที่เตรียมไว้ การเดินทางเข้าไปในป่าเพื่อไปที่น้ำตก มีทางให้เลือกหลายทางแต่ต้องมีพรานนำทาง มีช่วงที่เป็นเขาลาดชันหลายช่วง บางช่วงต้องเดินเลียบเนินเขาที่ชันมากและพื้นทางเดินกว้างเท่ากับฝ่าเท้าพอดี ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก หากพลาดลงไปจะตกลงไปถึงลำน้ำและกลับขึ้นมายาก สูงประมาณ 5 เมตรได้ครับ เจ็บแน่ๆ ควรใช้รองเท้าที่เหมาะกับการเดินป่า บางช่วงลื่นมากๆ

 สำหรับการเดินทางควรติดต่อพรานนำทางล่วงหน้า เพราะต้องมีลูกหาบ และต้องมีการใช้เรือขับทวนกระแสน้ำรันตีขึ้นไปประมาณ 5 กิโลเมตร ก่อนที่จะเริ่มเดินเท้า
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ 034-546680 จันทร์-พุธ คุณพิชัย หรือ webmaster@touronthai.com ได้ครับ

 รวมเวลาในการเดินทางตั้งแต่ขึ้นเรือจนถึงจุดกางเต็นท์ประมาณ 6 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละกลุ่ม ปี 2552 เพิ่งมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปแค่ 5 กลุ่ม บางกลุ่มเข้าถึงครึ่งทางแล้วก็กลับออกไปเลยก็มีครับ

ข้อมูลเพิ่มเติม:โทร. 034-546680 (จันทร์-พุธ)

แก้ไขล่าสุด 2017-07-26 17:14:17 ผู้ชม 16812

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
นั่งเรือทวนกระแสน้ำรันตีสู่ป่งป๊ง

นั่งเรือทวนกระแสน้ำรันตีสู่ป่งป๊ง เพียงเริ่มต้นการเดินทางจากท่าน้ำหน้าวัดกองม่องทะ เราก็สัมผัสได้ถึงความสวยงามของธรรมชาติทันที เบื้องหน้าเราเป็นเทือกเขาที่ยังมองเห็นหมอกหนาสีขาวอยู่เบื้องหน้า
แล่นทวนน้ำที่เชี่ยวพอสมควรจนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบผจญภัย ล่องแก่งกองม่องทะไปแล้ว (ทีมงานเราเอาป้ายไปติดเองแหละครับ ปากทางเข้าหมู่บ้านเห็นได้ชัดเจน) แล่นไปเรื่อยๆ ประมาณ 30 นาที จะถึงจุดที่ต้องลงจากเรือเพื่อเดินเลาะป่าไปขึ้นเรือต่ออีกแห่งหนึ่งเพราะเรือน้ำหนักมากกำลังไม่เพียงพอที่จะไปถึงปลายทางจริงๆ ได้ (คือต้องลงเรือแล้วเดินลัดเลาะลำน้ำไปในช่วงที่น้ำเชียวมากๆ)

ตกปลาอย่างชาวกองม่องทะ

ตกปลาอย่างชาวกองม่องทะ เบ็ดในมือคืออาวุธเดียวที่ใช้จากนั้นก็ต่อสู้กับจิตใจของตัวเอง ให้ยืนอย่างสงบ หากปลาได้ยินเสียงอึกทึกก็จะไม่กินเหยื่อ การยืนนิ่งๆ นานๆ เท่านั้นที่จะได้ปลาไปกินเมื่อยี่สิบปีก่อนหลายๆ พื้นที่ของไทยสามารถหาปลากินได้มากมายอุดมสมบูรณ์ ในวันนี้กลับมีเพียงบางพื้นที่เท่านั้นที่จะสามารถหาปลาได้จากธรรมชาติแบบง่ายๆ แบบนี้ ไปลองตกปลาที่กองม่องทะกันดูหน่อยนะครับประสบการณ์ชีวิต

ถึงจุดหมายของการเดินเรือ

ถึงจุดหมายของการเดินเรือ และในที่สุดการเดินเท้าอันยาวนานก็เริ่มต้นขึ้น ณ บัดนี้ จากจุดนี้ไปต้องเดินสถานเดียวแล้ว การเดินป่าจะแบ่งน้ำดื่มให้คนละขวดแล้วรักษากันเอาเองของใครของมัน ถ้าหากดื่มบ่อยหน่อยก็ลองถือ 2 ขวดดู แต่บางทีไปถึงปลายทางก็หมดขากลับก็ลำบาก

เดินป่าหาป่งป๊ง

เดินป่าหาป่งป๊ง ก้าวแรกที่ย่างเข้ามาในป่า ก็เห็นสภาพธรรมชาติต้นไม้สีเขียวขจีรอบพื้นที่ไปตามแนวของเทือกเขา แม้ว่าแดดจะแรงแต่ก็มีความรู้สึกว่าไม่ได้ร้อนแบบแดดในเมืองที่โดนกันประจำ

หนอนสีสวย

หนอนสีสวย สีสันสดใสของธรรมชาติ แต่จากข้อมูลที่รู้มา สัตว์สีสวยจะมีพิษเสมอ

เดินป่า

เดินป่า ป่าจริงๆ ไม่ใช่ทางเดินสบายๆ เหมือนอย่างน้ำตกในอุทยานแห่งชาติหลายๆ แห่งที่มีการทำทางเดินซะจนเรียบง่ายไปหมด

ดอกไม้ความสวยงามจากป่า

ดอกไม้ความสวยงามจากป่า ข้อดีของการเดินป่าอีกอย่างหนึ่งที่จะได้รับคือการได้เห็นดอกไม้ในป่าที่หาดูไม่ได้ในเมืองนี่แหละ แม้ว่าจะไม่รู้ชื่อเดี๋ยวก็ค้นหาเอา ถ้าเจอแล้วจะมาอัพเดตกันอีกที หรือใครรู้ก็เขียนโน๊ตไว้ข้างล่างนะครับ

ปีนป่ายในป่า

ปีนป่ายในป่า

ทางเรียบ

ทางเรียบ จะมีบางช่วงที่ไม่ยาวมากนักที่เราจะได้พบกับทางเรียบที่หลายคนอยากจะให้เป็นอย่างนี้ไปตลอดของเส้นทางเดินป่า แต่ก็ต้องผิดหวังไปตามๆ กัน ทางเรียบสบายๆ แบบนี้กลับมีระยะทางสั้นมากเมื่อเทียบกับทางลาดชันในระหว่างการเดินข้ามเขา

เดินป่าลึก

เดินป่าลึก กลุ่มแรกที่เดินนำหน้าหายเข้าไปในป่ากันหมดมองไม่เห็น ส่วนผมเองที่หยุดเก็บภาพเป็นระยะๆ ก็ต้องเร่งฝีเท้าให้ทันเพื่อนๆ เดี๋ยวหลงแล้วจะยุ่ง โดยปกติการเดินป่า จะมีการแบ่งลูกหาบทิ้งท้ายไว้ 1 คนเสมอ บางทีอยากเก็บภาพนานหน่อยก็ไม่เป็นไร แต่อย่าบ่อย ลูกหาบหนักครับ

ข้ามห้วย

ข้ามห้วย เส้นทางสู่ป่งป๊งจะมีการข้ามห้วย 6 ครั้ง และเนื่องจากเป็นการข้ามห้วยครั้งแรกของหลายๆ คนในทีมงานก็เลยตื่นเต้นกันใหญ่ แต่อย่างที่ได้อธิบายไว้ตั้งแต่แรกว่ามันมีทางเลือกหลายทางเหมือนกัน ถ้าไปแล้วไม่ได้ข้ามห้วยครบ 6 ครั้งก็อย่ามาว่าทัวร์ออนไทยโกหกนะครับ ในฤดูน้ำมากอย่างนี้บางทีการทำสะพานด้วยเชือกให้ไต่ไปบนน้ำก็จำเป็น

เห็ดป่า

เห็ดป่า ไม่ทราบว่าชื่อพันธุ์เห็ดอะไร แต่ต้องติดตามอ่านการเดินทางของเราจนถึงขากลับนะครับจะมาเก็บภาพเห็ดนี้อีกครั้งว่าโตขึ้นแค่ไหน

จุดพักกลางทาง

จุดพักกลางทาง จากการเดินป่าของเราที่เริ่มต้นจากจุดที่เรือมาส่งเวลาประมาณ 8.30 เรามาถึงจุดพักกลางทางนี้ประมาณ 11.00 ก็ถือว่าเร็วเหมือนกัน ก็มีการหุงหาอาหารกินกันก่อนจะเดินอีกช่วงหนึ่งที่โหดกว่าช่วงครึ่งแรก

พักกลางวัน

พักกลางวัน สำหรับคนนี้ก็พักจริงๆ เลย

เดินข้ามลำห้วย

เดินข้ามลำห้วย หลังจากพักกลางวันก็เดินกันต่อ พอข้ามห้วยหันหลายครั้งก็เริ่มชิน หลายคนก็ข้ามกันได้เร็วขึ้น มาถึงฝั่งนี้แล้วก็ลองดูลูกหาบเดินข้ามกันบ้าง ขนาดเราเดินตัวเปล่ากับกล้องตัวเดียวยังเหนื่อยสุดๆ ลูกหาบเดินพร้อมกับสัมภาระเต็มหลังกลับเดินแบบสบายๆ

ลุงชูข้ามห้วย

ลุงชูข้ามห้วย พรานป่าผู้เชี่ยวชาญป่าในละแวกนี้ที่สุด เป็นผู้นำเดินป่าของเราในทริปนี้ นอกเหนือจากความเชี่ยวชาญในเส้นทางแล้วลุงชูยังเป็นคนอารมณ์ดีเล่นมุกสนุกๆ ตลอดเวลา ตอนแรกยังพาเราเดินผิดไปหลายสิบเมตรแล้วบอกว่าเปลี่ยนใจไม่เอาทางนี้ดีกว่า เล่นเอาฮาตรึม บางคนก็ยืนอึ้งไปเลย

พักหนื่อยด้วยภาพ

พักหนื่อยด้วยภาพ หลังจากที่ข้ามลำธารที่เป็นน้ำตกสายเล็กๆ นี้มาได้ด้วยความยากลำบาก (ยากลำบากจริงๆ พอข้ามน้ำเสร็จก็เป็นเนินชันมากลื่นกันสนุกเลย) ก็หาที่ยืนเก็บภาพหน่อยเพื่อประกอบการเดินทาง ช่างภาพทั้ง 3 คน หยุดหมด 2 คนเก็บภาพตรงน้ำตก ผมก็ยืนเก็บอยู่ข้างหลัง

ลำห้วยใสไหลเย็น

ลำห้วยใสไหลเย็น จากการข้ามลำห้วยทั้งหมดจะมีห้วยนี้เพียงแห่งเดียวที่มีน้ำใสมากๆ มองเห็นหินใต้น้ำได้ชัดเจน เพราะลำธารหรือห้วยนี้เป็นคนละสายกันกับที่ข้ามมาทั้งหมด ลองชิมดูก็มีรสหวานแปลกๆ ดี

ถึงป่งป๊ง

ถึงป่งป๊ง ในที่สุดก็เดินมาถึงน้ำตกป่งป๊ง ทีมงานนั่งพักบนไม้ใหญ่ที่ล้มขวางธารจากน้ำตกพอ จากตรงที่นั่งกันจะมองเห็นน้ำตกได้ชัดเจน แต่สำหรับการถ่ายภาพต้องเดินหาจุดที่ใกล้กว่านี้หน่อย การเสี่ยงกับการลื่นตกน้ำก็เลยเกิดขึ้น

ที่ระลึกป่งป๊ง

ที่ระลึกป่งป๊ง

น้ำตกป่งป๊ง

น้ำตกป่งป๊ง ไม่มี CPL ไปด้วย เอาไว้คราวหน้า รูปนี้ก็พยายามให้ดูนุ่มแล้วละ จุดที่ยืนถ่ายนี้ก็อยู่กลางธารที่ไหลมาจากน้ำตก สายน้ำไหลเชี่ยวเดินบนหินที่ค่อนข้างลื่น แม้ไม่ลื่นมากก็ยังอันตราย เพราะกระแสน้ำพัดจนขายืนไม่อยู่เลยทีเดียว การถ่ายรูปน้ำตกในน้ำตกที่แรงขนาดนี้ก็ต้องมีเทคนิคต่างๆ เอาออกมาใช้ ที่สำคัญที่สุดคือการป้องกันละอองน้ำมาเกาะหน้าเลนส์ อาจจะมีการใช้ร่มบังบ้าง ผ้าบังบ้าง แต่ยังไงก็ลำบากอยู่ดีแหละ

น้ำตกป่งป๊ง

น้ำตกป่งป๊ง เปรียบเทียบขนาดกับนายเตร็ดเตร่ ไปยืนอยู่ข้างน้ำตกป่งป๊ง ก็พยายามถ่ายให้มองเห็นแล้วแต่ระยะที่ไกลมากก็อาจจะเห็นคนไม่ชัด ก็จุดสีเหลืองๆ ที่เป็นถุงทะเลนั่นแหละครับ ทำให้เห็นความยิ่งใหญ่ของน้ำตกป่งป๊งได้ดีขึ้นว่าสูงใหญ่ขนาดไหน

กิ้งก่าป่าเกาะเต็นท์

กิ้งก่าป่าเกาะเต็นท์ กลับจากป่งป๊ง เดินกลับมายังจุดกางเต็นท์ ประมาณ 600-700 เมตร แต่ลืมเล่าไปว่าเรามาถึงจุดกางเต็นท์ตอน 4 โมงเย็น กางเต็นท์กันให้เสร็จแล้วค่อยไปป่งป๊งนะครับ กลับมาก็อาบน้ำในลำธาร ระหว่างลานกางเต็นท์กับน้ำตกป่งป๊งมีธารขวางอยู่ ซึ่งเป็นจุดที่ลำธาร 2 สายไหลมาบรรจบกัน สายหนึ่งจะใสมาก อีกสายก็สีแดงไปเลย เราอาบน้ำตรงนั้นโดยการเลือกฝั่งน้ำใสในการอาบ เย็นดีมาก หรือจะไปอาบใต้น้ำตกที่ชื่อว่าน้ำตกฝักบัวก็ได้ เป็นน้ำตกเล็กๆ เหมือนเปิดน้ำจากฝักบัว ไหลลงมาบนก้อนหินขนาดใหญ่ แต่ต้องข้ามธารน้ำที่เชี่ยวมากไป พออาบเสร็จก็ต้องเดินข้ามธารมาลานกางเต็นท์ (ก็ข้ามธารน้ำขุ่นอยู่ดี ไม่รู้ว่าจะอาบตรงน้ำใสไปทำไม)

ลานกางเต็นท์ป่งป๊ง

ลานกางเต็นท์ป่งป๊ง เป็นลานกว้างไม่มากนักและหาได้ยากในป่า ก็ต้องกางกันตามสภาพ หลายคนก็เอาเปลมาแทนก็เลือกกางกันไป ถ้ามามากกว่า 5 หลังอาจจะหาที่กางได้ยาก

หุงข้าวหม้อสนาม

หุงข้าวหม้อสนาม นานๆ ทีจะได้เห็น การใช้ชีวิตในป่าด้วยเครื่องมือเหล่านี้เห็นแบบนี้ก็ช่วยกองกำลังที่หิวจัดอย่างพวกเราไว้ได้หลายชีวิต หุงกัน 2 หม้อ หม้อละ 2 รอบ รวมเป็น 4 หม้อ อย่างรวดเร็วทันใจ

ลานอาหาร

ลานอาหาร ตามรูปแบบการเดินป่า จุดที่จะจัดไว้สำหรับนั่งทานอาหารร่วมกันก็ต้องผ้าใบแบบปู 1 ผืนและกางเป็นหลังคา 1 ผืน

ลุงชูเรียกปลา

ลุงชูเรียกปลา ยิ่งกว่าคาถาของสังข์ทอง ลุงชูใช้ข้าวนิดหน่อยที่เหลือจากอาหารเช้าแกว่งไปในลำธารเรียกลูกปลาฝูงใหญ่มาโชว์ตัว

ล้างหน้าแปรงฟัน

ล้างหน้าแปรงฟัน ด้วยน้ำในลำธารหน้าเต็นท์นี่แหละ

กินอยู่แบบชาวป่า

กินอยู่แบบชาวป่า ชาวป่าแท้ๆ มีเปลไว้นอนกับต้นไม้ไว้แขวนผ้า กองไฟไว้ทำอาหาร ครบเครื่อง

ภาพที่ระลึกนักเดินป่าป่งป๊ง

ภาพที่ระลึกนักเดินป่าป่งป๊ง ก่อนจะเดินทางกลับกลัวว่าหน้าจะมันแล้วจะไม่สวยหลังเก็บข้าวของพร้อมเดินทางแล้วก็ขอถ่ายภาพร่วมกับลุงชูและทีมงานลูกหาบเป็นที่ระลึก

ออกเดินทางขากลับ

ออกเดินทางขากลับ เริ่มเช้าวันใหม่ของทริปนี้ด้วยการเดินขึ้นเขาที่ลาดชันอย่างที่เห็นง่ายต่อการไถลลงมาอย่างรวดเร็ว

ลูกหาบกับเนินเขา

ลูกหาบกับเนินเขา ท่าทางเดินสบายๆ ชิวชิว จริงๆ ขนาดเราตัวเปล่าลื่นแล้วลื่นอีก แกหาบของเต็มหลังคงหนักเกือบ 20 กิโลกรัม ยังเดินแบบสบายๆ

จุดพักของช่างภาพ

จุดพักของช่างภาพ ถ่ายรูปวิวกับรูปคนอื่นมามาก อยากมีตัวเองในกล้องบ้างก็ต้องหาจังหวะหยุดกันบ้าง

น้ำเชี่ยว

น้ำเชี่ยว กว่าจะไปนั่งโพสต์ท่าแบบนั้นได้ ลำบากน่าดู นี่ถ้าไม่พาข้ามกลับมาฝั่งมีหวังได้นั่งจนค่ำแน่ๆ

น้ำตกจิ๋ว

น้ำตกจิ๋ว พยายามกันอยู่หลายนาทีที่จะเก็บภาพนี้ให้สายน้ำมันดูฟุ้งซะหน่อย แต่มันก็ทำไม่ได้เพราะมือไม้สั่นกันหมดด้วยความเหน็ดเหนื่อย ก็เลยถ่ายให้ออกมาเป็นแบบนี้แทน

เห็ดป่า

เห็ดป่า จำกันได้หรือเปล่ากับเห็ดต้นเดิมที่ถ่ายไว้ตอนขาไป คืนเดียวโตขึ้นมากเลย (ถ้าจำไม่ได้ย้อนกลับไปใหม่นะ)

พักอีกแล้ว

พักอีกแล้ว ห้วยเล็กๆ ที่เดินผ่านก็เก็บกันซะหน่อยไหนๆ ก็มาแล้ว

ดอกไม้ป่า

ดอกไม้ป่า ก่อนกลับก็เอาอีกเหมือนกับขามาสำหรับการถ่ายภาพดอกไม้ป่าสวยๆ ระหว่างทาง

ดอกดินแดง

ดอกดินแดง Aeginetia indica Linn.
ชื่อวงศ์ OROBANCHACEAE
ชื่ออื่น ข้าวก่ำนกยูง ซอซวย สบแล้ง กะเปเส้ หญ้าดอกขอ ปากจะเข้
เพาะลาพอ
ไม้ล้มลุก ลำต้น อยู่ใต้ดินขนาดเล็กเป็นพืชอาศัยอยู่กับรากไม้
ใบ เป็นเกล็ดขนาดเล็กอยู่ที่โคนกอ สังเกตได้ยากออกเรียงสลับ หรือ
ตรงข้าม รูปคล้ายสามเหลี่ยม ดอก ผุดจากส่วนลำต้นใต้ดิน 1-3 ดอก
ต่อเหง้า ก้านดอกตรงยาว 10-25 ซม. ดอกมีลักษณะเป็นถ้วยคว่ำ สี
ม่วงแดงผิวเกลี้ยงเป็นมัน กลีบรองดอกเป็นประกับหุ้มโคนดอก สีม่วง
อมชมพู สีอ่อนกว่ากลีบดอก
ประโยชน์ ดอกแห้งหรือดอกสด นำมาสกัดน้ำ ใช้เป็นสีผสมอาหารให้สีม่วง

ดอกไม้ป่า

ดอกไม้ป่า คล้ายดอกกระเจียว แต่ที่แปลกไปกว่านั้นคือ ในดอกสีส้มมีดอกสีขาวออกมาอีกชั้นหนึ่ง และที่เห็นจะมีอยู่เพียงดอกเดียวในช่อที่เป็นแบบนี้

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ น้ำตกป่งป๊ง กาญจนบุรี
เดอะ เนเชอร์ คลับ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  14.07 km | แผนที่ | เส้นทาง
BAN PE NOOY เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  14.15 km | แผนที่ | เส้นทาง
ภูชมหมอก รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.16 km | แผนที่ | เส้นทาง
สตูดิโอ บ้าน 1 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 15 ตร.ม. – สังขละบุรี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.22 km | แผนที่ | เส้นทาง
สตูดิโอ บ้าน 1 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 15 ตร.ม. – สังขละบุรี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.22 km | แผนที่ | เส้นทาง
สตูดิโอ บ้าน 1 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 13 ตร.ม. – สังขละบุรี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.25 km | แผนที่ | เส้นทาง
พรไพลิน ริเวอร์ไซด์ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.25 km | แผนที่ | เส้นทาง
ชาโต เดอ สังขละบุรี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.68 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านไอหมอก เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.74 km | แผนที่ | เส้นทาง
สามประสบ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.81 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com