www.touronthai.com

หน้าหลัก >> น่าน >> อุทยานแห่งชาติดอยภูคา

อุทยานแห่งชาติดอยภูคา

 อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น ป่าต้นน้ำ ป่าดึกดำบรรพ์ปลายทางหิมาลัย ขุนเขาใต้ทะเล อุทยานแห่งชาติดอยภูคา มีพื้นที่ประมาณ 1,680 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่หลายอำเภอ ได้แก่ ท่าวังผา ปัว เชียงกลาง ทุ่งช้าง บ่อเกลือ สันติสุข และแม่จริม เทือกเขาดอยภูคาประกอบด้วยแนวภูเขาสูงสลับซับซ้อน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของปลายเทือกเขาหิมาลัย โดยมียอดภูคาเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของจังหวัดน่าน สูงถึง 1,980 เมตร

    ดอยภูคาเป็นต้นแม่น้ำสำคัญหลายสาย เช่น แม่น้ำน่าน ลำน้ำปัว บริเวณนี้เดิมเคยเป็นทะเลมาก่อน ก่อนจะเกิดการเคลื่อนตัวของแผ่นดินสองผืนใต้ทะเลเข้าหากัน ทำให้แผ่นดินโก่งตัวขึ้น น้ำทะเลใต้ดินระเหยไปเหลือเพียงสินแร่เกลือ ดังที่พบในเขตอำเภอบ่อเกลือ และการค้นพบสุสานหอยทะเลอายุประมาณ 200 ล้านปี บนดอยภูแวที่บ้านค้างฮ่อ ตำบลสะกาด อำเภอปัว มีลักษณะเป็นหอยแครงสองฝา ดร.จงพันธ์ จงลักษณ์มณี นักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี สรุปว่า เป็นซากหอยที่มี ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า พาลีโอคาร์ดิต้า สปีชี่ (Paleocardita Species) อายุ 195-205 ล้านปี จัดว่าอยู่ในยุคไทรแอสซิก (Triassic) ตอนปลาย

    ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ประกอบด้วยป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ทุ่งหญ้า และ ป่าสนธรรมชาติ เป็นแหล่งของพันธุ์ไม้หายากใกล้สูญพันธุ์ ได้แก่ ชมพูภูคา (Bretschneidera sinesis Hemsl.) ในเขตป่าดิบเป็นแหล่งต้นเต่าร้างยักษ์ ปาล์มดึกดำบรรพ์ เมเปิ้ลใบ 5 แฉก ต่างจากเมเปิ้ลที่อื่นซึ่งมี 3 แฉก และยังเป็นแหล่งนกเฉพาะถิ่นที่หายากสองชนิด คือ นกมุ่นรกคอแดง และนกพงใหญ่พันธุ์อินเดีย

    สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ ได้แก่

    ถ้ำผาแดง, ถ้ำผาผึ้ง เป็นถ้ำที่มีความสวยงามและยาวมากที่สุดในอุทยานแห่งชาติดอยภูคา (บ้านมณีพฤกษ์) อ.ทุ่งช้าง ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม และยังมีน้ำตกและลำธารขนาดใหญ่ภายในถ้ำอีกด้วย นอกจากนี้ที่บ้านมณีพฤกษ์นี้ยังสามารถชมดอกชมพูภูคาซึ่งจะบานในราวเดือนกุมภาพันธ์ได้ด้วย
    ถ้ำผาฆ้อง เป็นถ้ำขนาดกลางบริเวณปากถ้ำจะมีขนาดเล็ก ภายในถ้ำจะมีหินงอกหินย้อย และลำธารไหลผ่าน แต่ช่วงฤดูฝนไม่สามารถเข้าชมได้ เนื่องจากอาจมีน้ำท่วมในถ้ำอยู่ ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 7 กิโลเมตร และต้องเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 2 กม.
    น้ำตกต้นตอง เป็นน้ำตกหินปูนมี 3 ชั้น อยู่ในอุทยานแห่งชาติดอยภูคา บนโตรกผามีพืชชุ่มน้ำ เช่นตะไคร่น้ำ เฟิร์นเกาะเขียวขจี หากในหน้าน้ำหลากน้ำในน้ำตกจะขุ่นแดง ห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ 3 กม. ทางเข้าอยู่ที่บ้านป่าเต๋ย และเดินเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร (ไป-กลับ 2 กม.) ต้องผ่านพื้นที่ทำไร่ของชาวบ้าน ลักษณะทางเดินลาดชันมาก
    น้ำตกศิลาเพชร น้ำตกลงมาจากหน้าผาหลายชั้นลดหลั่นกันไป เหมาะกับการเล่นน้ำ น้ำตกศิลาเพชรอยู่ที่บ้านป่าตอง ตำบลศิลาเพชร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 71 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข 1080 สายน่าน-ปัว ก่อนถึงอำเภอปัว ตรงหลักกิโลเมตรที่ 41-42 มีทางแยกขวามือเข้าทางหลวงหมายเลข 1170 ไปประมาณ 10 กิโลเมตร
    น้ำตกภูฟ้า อยู่ในอ.แม่จริม การเดินทางเข้าไปยากลำบากจะต้องเดินเท้าประมาณ 2 วัน
    น้ำตกตาดหลวง บ้านทุ่งเฮ้า อ.ปัว และเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาพลวง
    ล่องแก่งน้ำว้าตอนกลาง ในอุทยานแห่งชาติดอยภูคา เป็นเส้นทางล่องแก่งระดับ 3-5 ประมาณ 20 กว่าแก่ง เป็นสุดยอดแห่งความตื่นเต้นสนุกสนานช่วงเวลาที่เหมาะกับการล่องแก่งอยู่ระหว่างเดือน ส.ค.-ธ.ค.
    ยอดดอยภูแว เป็นยอดดอยที่มีวามสูงจากระดับน้ำทะเล 1,837 เมตร มีลักษณะโดดเด่นเป็นทุ่งหญ้าบนดอย อีกทั้งยังมีลานหินและหน้าผาสูงชันอีกด้วย และมีพรรณไม้เฉพาะถิ่นและพรรณไม้หายาก เช่น ค้อ กุหลาบพันปี ฯลฯ ในช่วงฤดูหนาว(พ.ย.-ก.พ.)นั้นจะมีความสวยงามมาก

    การเดินทาง โดยรถยนต์จากที่ทำการอุทยานฯ ไปถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติดอยภูคาที่ 9 (บ้านด่าน) ระยะทางประมาณ 63 กม. และเดินทางขึ้นยอดดอยภูแวประมาณ 8 กม. และมีลูกหาบไว้บริการ

    สุสานหอย ซึ่งเป็นหอยทะเลอายุประมาณ 218 ล้านปี พบในบริเวณบ้านค้างฮ่อ อ.ทุ่งช้าง
    เส้นทางศึกษาธรรมชาติชมพูภูคา ดอยภูคานับเป็นบ้านแห่งสุดท้ายของต้นชมพูภูคาพันธุ์ไม้หิมาลัย ดร.ธวัชชัย สันติสุข ผู้เชี่ยวชาญพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กรมป่าไม้ เป็นผู้สำรวจพบเป็นครั้งแรกในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

    ชมพูภูคาจะผลิดอกตามปลายกิ่งเป็นช่อสีชมพูยาว 30-35 เซนติเมตร เมื่อบานจะทำให้ช่อดอกเป็นพุ่มสวยงาม ชมพูภูคาเป็นพันธุ์ไม้ที่เคยมีการสำรวจพบตามหุบเขาแถบมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีนและทางเหนือของเวียดนาม จากนั้นก็ไม่มีรายงานการค้นพบพืชชนิดนี้อีก พื้นที่ป่าดิบเขาดอยภูคาจึงอาจเป็นแหล่งกำเนิดสุดท้ายของชมพูภูคา ซึ่งเป็นไม้หายากใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่งในโลก จุดชมต้นชมพูภูคาที่เข้าถึงง่ายที่สุดจะอยู่ริมถนนห่างจากที่ทำการไป 5 กิโลเมตร

    อุทยานฯได้จัดเส้นทางศึกษาธรรมชาติไว้ 2 วงรอบ
    รอบเล็ก 1.2 กิโลเมตร ใช้เวลาเดิน 2 ชั่วโมง
    รอบใหญ่ 4.3 กิโลเมตร ใช้เวลาเดิน 4 ชั่วโมง
    ระหว่างเส้นทางจะพบ ป่าสนสามใบ เป็นป่าปลูกทดแทนป่าเดิมซึ่งถูกทำลาย ป่ากล้วย มักพบใกล้แหล่งน้ำ กล้วยที่โตเต็มที่สามารถเก็บน้ำตามลำต้นได้ถึง 10-15 ลิตร ป่าดึกดำบรรพ์ที่มีต้นเต่าร้างยักษ์, ต้นชมพูภูคา, นางพญาเสือโคร่ง พบในเขตป่าดิบเขา สูงจากระดับน้ำทะเล 800-1,800 เมตร เปลือกมีกลิ่นหอมคล้ายการบูน มีสรรพคุณเป็นยา ดอยดงหญ้าหวาย เดิมบริเวณนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน การเคลื่อนตัวของแผ่นดินใต้ทะเลสองผืนจนเกิดการโก่งตัวเป็นสภาพดอยในปัจจุบัน

    ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยว คือ ช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ อุณหภูมิ 15-27 องสาเซลเซียส และฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายนซึ่งมีอากาศเย็นสบาย

    สิ่งอำนวยความสะดวก ในบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยภูคา สถานที่สำหรับตั้งเต็นท์พักแรม บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยภูคา และลานดูดาวซึ่งเป็นจุดชมทิวทัศน์ได้ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ตามถนนสายปัว-บ่อเกลือ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตรในบริเวณพื้นที่กางเต็นท์ทั้ง 2 แห่งนี้มีห้องน้ำ ห้องสุขาไว้บริการแก่นักท่องเที่ยว

    จองบ้านพักที่
    กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760
    ป่าไม้จังหวัดน่าน โทร. 0 5471 0815 หรือ
    อุทยานแห่งชาติดอยภูคา โทร. 0 1224 0789, 0 5470 1000
    ตู้ปณ . 8 ตำบลภูคา อำเภอปัว จังหวัดน่าน 55120
    หรือสำรองที่พักด้วยตนเองที่ http://www.dnp.go.th

    การเดินทาง จากจังหวัดน่าน โดยทางรถยนต์ไปตามทางหลวงหมายเลข 1080 ถึงอำเภอปัว ระยะทาง 60 กิโลเมตรแยกไปตามทางหลวงหมายเลข 1256 (ปัว-บ่อเกลือ) ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ระยะทาง 25 กิโลเมตร

    ผู้ที่เดินทางโดยรถโดยสารประจำทางสามารถใช้บริการรถสองแถวสีน้ำเงินสายปัว-บ่อเกลือ ซึ่งผ่านหน้าอุทยานฯ วิ่งบริการระหว่างเวลา 07.30-14.00 น. ท่ารถอยู่บริเวณสามแยกปัว-บ่อเกลือ

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. สำนักงานแพร่ (แพร่ น่าน อุตรดิตถ์) โทรศัพท์ 0 5452 1127
http://www.tourismthailand.org/phrae

แก้ไขล่าสุด 2016-05-14 13:59:20 ผู้ชม 28486

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
เสี้ยวดอกขาว ดอกไม้งามแห่งภูคา

เสี้ยวดอกขาว ดอกไม้งามแห่งภูคา การเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติดอยภูคาอันมีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญๆ หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นถ้ำ หรือน้ำตก การเดินป่า และการล่องแก่งน้ำว้า ปัจจุบันหลังจากที่ได้มีการค้นพบชมพูภูคา ซึ่งหลายสิบปีก่อนมีการค้นพบพืชชนิดนี้ในประเทศจีน และทางเหนือของเวียดนาม หลังจากนั้นก็ไม่มีการค้นพบพืชชนิดนี้อีกเลย จนเกือบเข้าใจว่าต้นชมพูภูคาได้สูญพันธุ์ไปแล้ว จนในปี พ.ศ. 2532 ดร.ธวัชชัย สันติสุข นักพฤกษศาสตร์ ได้ค้นพบต้นชมพูภูคาอีกครั้งที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา และกลายมาเป็นเอกลักษณ์และจุดเด่นที่น่าสนใจในการไปชมดอยภูคาในทุกวันนี้ นอกเหนือจากนั้นยังมีเสี้ยวดอกขาว ซึ่งพบมากโดยทั่วไปในภาคเหนือ ที่พิเศษไปกว่านั้นต้นเสี้ยวดอกขาวในอุทยานแห่งชาติดอยภูคามีอยู่ต้นหนึ่งเป็นต้นที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกไว้ เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2539 วันที่เดินทางไปได้พบเสี้ยวดอกขาวนี้บานสะพรั่งอยู่เต็มต้นสวยงามมาก ต้นเสี้ยวดอกขาว เป็นไม้ยืนต้น ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกระหว่างเดือน กุมภาพันธ์-เมษายน สูงประมาณ 8-15 เมตร ต้นนี้อยู่ใกล้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยภูคาครับ

เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติต้นชมพูภูคา

เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติต้นชมพูภูคา อุทยานแห่งชาติดอยภูคามีเส้นทางศึกษาธรรมชาติทั้งรอบใหญ่ และรอบเล็ก แต่ปัจจุบันมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติขึ้นมาอีกเส้นทางหนึ่ง เป็นรอบเล็กมากๆ สำหรับเดินเข้าไปชมต้นชมพูภูคาเท่านั้น ระยะทางประมาณ 700 เมตร เป็นเส้นทางขึ้นเขาค่อนข้างชันแต่ไม่มาก ทางอุทยานฯได้ทำขั้นบันไดเล็กๆ ให้เดินกันได้ง่ายๆ โดยเส้นทางนี้มีจุดชมวิวบนยอดเขาที่สวยงามด้วย เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาตินี้อยู่ระหว่างศูนย์บริการนักท่องเที่ยวกับลานดูดาว ซึ่งเป็นลานกางเต็นท์สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะมาพักแรมที่นี่ ระยะทางจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวไปยังเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติประมาณ 4 กิโลเมตร และห่างจากลานดูดาวประมาณ 1 กิโลเมตร

เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติต้นชมพูภูคา

เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติต้นชมพูภูคา บรรยากาศทางเดินในป่าไม้ยืนต้นอันอุดมสมบูรณ์ของดอยภูคา และมีม้านั่งสร้างไว้ให้พักเป็นระยะๆ เพราะทางเดินขาขึ้นค่อนข้างชัน แต่ไม่ไกลมาก นักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เดินเข้ามาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์จนถึงมีนาคมซึ่งเป็นช่วงที่ต้นชมพูภูคาจะมีดอกบานให้ได้เห็นอย่างเต็มที่ นอกเหนือจากนั้นแล้วในช่วงเวลาดังกล่าวก็เป็นช่วงที่เสี้ยวดอกขาวบานสะพรั่งด้วยเช่นกัน

ปลายทางยอดภูคา

ปลายทางยอดภูคา เมื่อสิ้นสุดทางเดินขึ้นเขาที่บันไดขั้นสุดท้าย จะได้เห็นจุดชมวิวบนยอดเขา ถึงแม้ว่าวิวที่เห็นจะไม่กว้างไกลดังเช่นจุดชมวิวของยอดเขาอื่นๆ แต่ก็มีสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ต้นเสี้ยวดอกขาวที่บานสะพรั่งเต็มต้นรอคอยนักท่องเที่ยวที่อดทนเดินทางไกลมาจนถึงที่นี่

เสี้ยวดอกขาวสูงตระหง่านบานสะพรั่ง

เสี้ยวดอกขาวสูงตระหง่านบานสะพรั่ง เสี้ยวดอกขาวต้นนี้มีขนาดใหญ่มาก น่าจะโตเต็มที่แล้ว มีดอกสีขาวบานสะพรั่งอยู่เต็มต้น เนื่องจากเป็นต้นที่อยู่บนยอดเขาเสี้ยวดอกขาวต้นนี้จึงดูเด่นสง่าท่ามกลางแสงแดดและฟ้าสีครามที่สดสวยหากได้เห็นของจริงจะสวยยิ่งกว่าในภาพนี้อย่างแน่นอนครับ ทีมงานของเราที่ได้เดินขึ้นเขาและกระจายออกไปตามความเร็วในการเดินของแต่ละคน มีหลายคนที่ได้หยุดพักที่จุดนี้และได้ภาพสวยๆ มาหลายภาพ

คุณเจี๊ยบกับเสี้ยวดอกขาว

คุณเจี๊ยบกับเสี้ยวดอกขาว ถึงแม้ว่าจุดมุ่งหมายในการเดินทางไกลหลายร้อยกิโลเมตรของเราจะเป็นการมาชมดอกชมพูภูคาก็ตาม แต่เมื่อได้เห็นเสี้ยวดอกขาวที่สวยงามมากในยามที่บานพร้อมกันทั้งต้นแบบนี้ก็อดไม่ได้ที่จะถ่ายรูปที่ระลึกซึ่งก็ได้ภาพสวยสมใจอยาก

เดินต่อไปสู่ชมพูภูคา

เดินต่อไปสู่ชมพูภูคา หลังจากถ่ายภาพเสี้ยวดอกขาวจนจุใจกันแล้วและหายเหนื่อยจากเส้นทางขึ้นเขาชันกันมาก็เดินต่อไปยังกลุ่มต้นชมพูภูคาซึ่งอยู่ในป่าจากจุดนี้ไปอีกเพียงไม่ไกลแล้ว

ทีมงานทัวร์ออนไทยกับการชมชมพูภูคา

ทีมงานทัวร์ออนไทยกับการชมชมพูภูคา เมื่อเดินลึกเข้ามาในป่า ทุกคนเห็นต้นชมพูภูคาประมาณ 4 ต้น ยืนเรียงกันเหมือนตั้งใจที่จะขึ้นพร้อมกันในที่นี้ ต่างคนต่างพยายามมองดอกชมพูภูคาที่อยู่สูงขึ้นไปตามขนาดของต้นซึ่งคาดว่าน่าจะสูงเกิน 10 เมตร มองเห็นช่อชมพูภูคาหลายช่อแต่ไม่ค่อยถนัดนัก ที่ต้นชมพูภูคาสูงขนาดนี้คงเป็นเพราะปัจจัยในเรื่องของแสงแดด เพราะบริเวณนี้มีไม้ยืนต้นอยู่หลายชนิดที่มีความสูงหลายเมตร ทำให้พืชที่เจริญเติบโตในบริเวณนี้ต้องพยายามปรับตัวให้สูงเพื่อแย่งแสงแดดอันเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตของต้นไม้ ในการเดินทางทริปนี้ยังบอกให้เราได้รู้ว่าควรมีกล้องส่องทางไกล และควรนำเลนส์ช่วงยาวๆ อย่างเช่น 300mm มาด้วยเพื่อที่จะได้เก็บภาพดอกชมพูภูคาได้ชัดๆ นอกจากบริเวณนี้แล้วยังพบต้นชมพูภูคาอีกหลายจุดกระจายกันในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา แต่ยังไม่มีดอกออกมาให้ได้ชมกันสำหรับคนที่ไม่เคยเห็นต้นหรือดอกชมพูภูคามาก่อนต่างก็วาดหวังว่าเมื่อมีดอกออกบานสะพรั่งแล้วจะสวยงามเหมือนนางพญาเสือโคร่ง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะชมพูภูคาในหนึ่งต้นจะมีดอกไม่กี่ช่อ และด้วยจำนวนต้นที่มีอยู่น้อยมากในปัจจุบันจึงยังไม่มีบริเวณใดที่จะทำให้ได้เห็นดอกชมพูภูคาบานจนเป็นสีชมพูสวยเหมือนซากุระเมืองไทยนางพญาเสือโคร่ง

ชมพูภูคา

ชมพูภูคา (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bretschneidera sinensis Hemsl. ชื่อวงศ์ : BRETSCHNEIDERACEAE)ดอกไม้ที่สวยงามสีชมพูบานในช่วงเดือนแห่งความรัก มีจำนวนน้อยมากในโลกนี้ หลังจากที่ได้มีรายงานการค้นพบดอกไม้ชนิดนี้ที่ภูคาจังหวัดน่าน ยังไม่มีรายงานการค้นพบเพิ่มเติมจากสถานที่ใดๆ ต้นไม้ชนิดนี้จึงควรค่าแก่การถนอมรักษาและเพาะพันธุ์ขึ้นมาเพิ่ม ชมพูภูคา เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 15-25 เมตร จะเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณป่าดงดิบ ตามไหล่เขาสูงชันที่มีความสูงตั้งแต่ 1,200 เมตรขึ้นไปจากระดับน้ำทะเล และมีความชื้นของอากาศสูง มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีค่อนต่ำ สำหรับลักษณะทั่วไปของ "ต้นชมพูภูคา" จะมีเปลือกเรียบสีเทา ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวมีใบย่อยรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายใบแหลมยาว แผ่นใบด้านล่างมีนวลสีขาว ส่วนดอกเมื่อบานจะมีลักษณะคล้ายรูประฆัง กลีบดอกด้านนอกมีสีชมพูจางขาว และกลีบดอกด้านในมีสีชมพูลายเส้นสีม่วง ชูช่อเป็นพวงใหญ่ โดยปัจจุบันได้มีการทดลองเพาะกล้าไม้ชมพูภูคาเป็นผลสำเร็จแล้ว

ร้านค้าสวัสดิการและร้านอื่นๆ

ร้านค้าสวัสดิการและร้านอื่นๆ ในที่สุดเราก็มาถึงลานกางเต็นท์พักแรมของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ลานกางเต็นท์ที่นี่มีชื่อว่า "ลานดูดาว" ที่นี่มีห้องน้ำห้องอาบน้ำแยกหญิง-ชาย ด้านละ 3 ห้อง ทั้งห้องน้ำหญิง และชาย มีห้องหนึ่งที่มีน้ำอุ่นระบบแกส ในวันที่อากาศหนาวเย็นนักท่องเที่ยวสามารถรอคิวอาบน้ำในห้องน้ำที่มีเครื่องทำน้ำอุ่นได้ สำหรับค่าแกสก็แล้วแต่จะให้ มีกล่องให้หยอดเงินลงไป ร้านค้าร้านอาหารมีทั้งร้านสวัสดิการของอุทยานฯ และร้านของเอกชน มีกาแฟสดหลายรสให้เลือก เสมือนร้านกาแฟสดข้างนอกทั่วไป แต่เมล็ดกาแฟของที่นี่ค่อนข้างมีชื่อ รสชาดดี ครัวจะปิดเวลาประมาณ 1 ทุ่ม ดังนั้นอาหารเย็นหากไม่ได้เตรียมมาเองต้องไปให้ทันเวลา หากนำอาหารมาเองทางอุทยานฯอนุญาตให้มีการปรุงอาหารบริเวณลานกางเต็นท์ได้

พื้นที่กิจกรรมรอบกองไฟ

พื้นที่กิจกรรมรอบกองไฟ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา มีพื้นที่สำหรับกิจกรรมรอบกองไฟให้นักท่องเที่ยวได้นั่งสนทนากัน โดยมีฟืนจำหน่ายให้มัดละ 50 บาท หากเดินทางมาเที่ยวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งมีการเก็บเกี่ยวข้าวโพดของชาวบ้าน สามารถหาซื้อข้าวโพดมานั่งเผาเป็นกิจกรรมยามว่างก่อนเข้านอนได้ด้วย สำหรับทริปนี้ทัวร์ออนไทยดอทคอมพาสมาชิกมาเยอะ จึงได้นั่งรอบบริเวณนี้จนไม่มีนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นมานั่งด้วยเลยครับเรียกว่าเต็มพื้นที่กันเลยทีเดียว

ชมพูภูคาทรงปลูก

ชมพูภูคาทรงปลูก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกต้นชมพูภูคา และนางพญาเสือโคร่งไว้บริเวณลานกางเต็น์ลานดูดาวของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา โดยทรงปลูกต้นชมพูภูคาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2538 และทรงปลูกนางพญาเสือโคร่งใกล้ๆ ต้นชมพูภูคา เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539 จุดที่น่าสังเกตุคือ หลังจากที่เวลาได้ผ่านไปถึง 15 ปี ต้นไม้ทั้งสองชนิดยังมีขนาดไม่สูงมากดังในภาพที่เห็น จึงเป็นไปได้ว่ากว่าต้นชมพูภูคาจะพร้อมออกดอกได้เต็มที่คงจะใช้เวลาหลายสิบปีก็เป็นได้

จุดชมวิวพระอาทิตย์ตกลานดูดาว

จุดชมวิวพระอาทิตย์ตกลานดูดาว ลานกางเต็นท์ที่ชื่อว่าลานดูดาวแห่งนี้มีจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกอยู่ใกล้ๆ ทางอุทยานแห่งชาติดอยภูคาได้จัดสร้างศาลาหลังเล็กๆ ไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ยืนชมวิวพักผ่อนในเวลายามอัสดง วันนี้เป็นวันหนึ่งที่มีพระอาทิตย์ตกสวยงาม ลับหายไปจากท้องฟ้ากับฉากเทือกเขาสลับซับซ้อน แต่ก็มีเสียงบ่อนเล็กๆ สำหรับช่างภาพนับสิบชีวิตบนศาลาหลังนี้ว่าต้นไม้แห้งเล็กๆ ที่เห็นเบื้องหน้านี้ ช่างเกะกะวิวสวยๆ เสียจริง ต้นไม้แห้งต้นนี้บังเอิญอยู่ตรงหน้าศาลาพอดี จะหามุมกล้องหลบก็ทำได้ลำบาก เพราะมีช่างภาพหลายคนยืนอยู่อย่างเบียดเสียด (เพราะต่างคนต่างก็กางขาตั้งออกมา) แต่ยังไงก็ตาม วิวนี้ก็นับว่าเป็นวิวที่สวยงามของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา และตำแหน่งที่ตั้งของจุดชมวิวที่เดินจากเต็นท์ไปไม่กี่สิบเมตรย่อมเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวได้ดี

อาทิตย์ลับขอบฟ้าอำลาดอยภูคา

อาทิตย์ลับขอบฟ้าอำลาดอยภูคา แสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์ที่เริ่มลางเลือนและเตรียมที่จะหายไปจากสายตาหลายคู่ที่คอยจับจ้องมองผ่านช่องมองภาพหลังเลนส์ของกล้องตัวเองหลังจากภาพนี้ไปอีกเพียงไม่กี่อึดใจ ดวงอาทิตย์ก็ลับหายไป

เผาข้าวโพดกิจกรรมรอบกองไฟ

เผาข้าวโพดกิจกรรมรอบกองไฟ สำหรับทัวร์ออนไทยวันนี้โชคดีมีรถขนข้าวโพดผ่านมาจะเอาไปขายที่เชิงเขา แต่เราขอซื้อมาบางส่วน และซื้อฟืนจากอุทยานฯ 1 มัด เอามาเป็นกิจกรรมยามว่างระหว่างการสนทนาก่อนนอน บรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน และเรื่องบังเอิญอีกเรื่องหนึ่งที่ทริปนี้ตรงกับวันมาฆบูชา ขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 หลังจากที่ได้เวียนเทียนกลางน้ำกว๊านพะเยาแห่งเดียวในโลกแล้ว เราก็ได้มาชมดอกชมพูภูคาแห่งเดียวในโลกอีกเช่นกัน หลังจากการเวียนเทียนไปแล้ว คืนนี้เป็นแรม 1 ค่ำ ซึ่งพระจันทร์ยังคงงดงามเหมือนคืนวันเพ็ญ กล้องพร้อมเลนส์เทเล 200mm จึงได้เก็บภาพดวงจันทร์พร้อมรายละเอียดของผิวดวงจันทร์อย่างไม่น่าเชื่อภาพนี้ไว้ได้ หลุมลึกและผิวขรุขระของดวงจันทร์ทำให้เราเห็นเหมือนมีกระต่ายอยู่บนนั้นนั่นเอง

อรุณรุ่งดอยภูคา

อรุณรุ่งดอยภูคา อุทยานแห่งชาติดอยภูคาที่ลานดูดาว ตอนเช้ามีพระภิกษุเดินทางมาบิณฑบาตรโปรดนักท่องเที่ยวให้ได้ทำบุญกันแบบถึงที่ ชนิดที่ว่ามาเที่ยวยังได้ทำบุญแบบง่ายๆ สำหรับวันนี้ทีมงานที่เหนื่อนกับการเดินทางตลอดทริปตั้งแต่วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี วัดพระธาตุช่อแฮ บ้านประทับใจ ภูลังกา มาจนถึงดอยภูคาแห่งนี้ ทำให้ตื่นสายกันทุกคนไม่ทันได้ดูพระอาทิตย์ขึ้นของดอยภูคา ซึ่งมีจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นห่างจากลานดูดาวไปอีก 4 กิโลเมตรแต่เราก็ยังเดินทางไปเก็บภาพบรรยากาศจุดชมวิวมาให้ชมแต่ไม่ใช่พระอาทิตย์ขึ้น เป็นช่วงสายๆ ของวันที่กำลังจะเดินทางลงไปยังสถานที่ต่อไปตามโปรแกมที่เหนือ 3 จังหวัด แพร่ พะเยา น่าน ของเรา...ชมเรื่องราวความประทับใจแบบเต็มอิ่มของทริปนี้ได้ที่ //www.touronthai.com/forum/index.php?topic=430.0

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา น่าน
บ่อเกลือ วิว รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  15.03 km | แผนที่ | เส้นทาง
สายหมอกบอกฮัก บ้านสะปัน
  20.57 km | แผนที่ | เส้นทาง
โฮมสเตย์ตานงค์
  23.29 km | แผนที่ | เส้นทาง
หินผา โฮมสเตย์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  24.46 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านพัก กลางทุ่ง
  24.58 km | แผนที่ | เส้นทาง
เรือนมิตรภาพ โฮมสเตย์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  24.59 km | แผนที่ | เส้นทาง
ไออุ่นวิว โฮมสเตย์
  24.90 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมป่าปัว ภูคา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  25.63 km | แผนที่ | เส้นทาง
ภูรีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  25.76 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านสวนริมธาร ปัว น่าน เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  25.89 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com