www.touronthai.com

หน้าหลัก >> พัทลุง >> Wetlandcamp

Wetlandcamp

ที่พักที่ตั้งชื่อด้วยความหมายตรงตัว ตรงที่ Wetland เพราะสภาพภูมิประเทศของทำเลที่ตั้ง อยู่ริมทะเลน้อย ที่มีลักษณะเหมือนป่าชายเลน ต่างจากป่าชายเลนที่เราเห็นตามชายทะเลทั่วไปตรงที่ พื้นที่ป่าชายเลนรอบทะเลน้อยเป็นน้ำกร่อย ระบบนิเวศจึงมีความแตกต่างจากป่ายชายเลนที่เป็นสังคมไม้โกงกาง Wetlandcamp เป็นรีสอร์ทที่เปิดตัวขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง แต่ด้วยแนวความคิดที่ไม่เหมือนใครของ Wetland ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากที่อื่นๆ จึงทำให้เป็นที่รู้จักกันอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงแต่การพักผ่อนในบ้านพักที่อยู่ริมน้ำ ยังมีกิจกรรมการท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติ และวิถีชีวิตของชาวบ้านปากประได้เป็นอย่างดี สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือกลุ่มยอยักษ์ อุปกรณ์ในการจับสัตว์น้ำที่เป็นที่นิยมในลุ่มน้ำทะเลน้อย ถูกสร้างขึ้นมากมายหน้า Wetlandcamp หลังจากถ่ายรูปพระอาทิตย์ขึ้นสวยๆ กับยอยักษ์ กิจกรรมต่อไปที่ไม่ควรจะพลาดก็คือการล่องเรือเที่ยวทะเลน้อยและทะเลสาบสงขลา ที่มีหมู่นกนานาชนิดอาศัยอยู่ เกือบทั้งหมดเป็นนกน้ำ ที่คอยบินวนเวียนหาปลากิน และที่สำคัญอันเป็นไฮไลท์ของที่นี่ก็คือฝูงควายน้ำ ที่ดำน้ำกินหญ้า อยู่กันเป็นฝูง หาดูที่ไหนไม่ได้ ต่อจากนั้นแล่นเรือลึกเข้าไป ในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา คลองลาโพ ชมดงบัวแดงดอกใหญ่ๆ กลืบหนาๆ อวดสีชมพูบานสะพรั่งตื่นตาตื่นใจ ทั้งหมดนี้รวมอยู่ใน Wetlandcamp



    การเดินทาง Wetlandcamp ตั้งอยู่บ้านปากประ ใช้เส้นทางเดียวกันกับสวนพฤกษศาสตร์จังหวัดพัทลุง 

    จากตัวอำเภอควนขนุน ใช้ทางหลวงหมายเลข 4048 (ควนขนุน - วนอุทยานนกน้ำทะเลน้อย) ถึงพนางตุง ก่อนถึงอุทยานนกน้ำประมาณ 500 เมตร จะมีทางแยกขวา เป็นถนนปากประ ขับตามถนนไปเรื่อยๆ จนถึงสามแยกเข้า สวนพฤกษศาสตร์จังหวัดพัทลุง ให้ขับเข้าไปทางสวนพฤกษศาสตร์ จะมีทางแยกขวามือเป็นถนนคอนกรีต เข้า Wetlandcamp



    มาจากอำเภอระโนด ข้ามทะเลน้อย ด้วยสะพานที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ถนนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จะมาบรรจบกับถนนปากประ เป็นสามแยก ให้เลี้ยวซ้ายและจะเป็นทางไปสู่สวนพฤกษศาสตร์จังหวัดพัทลุง 



    กิจกรรม



    Package 1 : Wetland Trip – สำรวจพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญของโลก ราคา 1200 

    Package 2 : Patalung Day Trip ราคา 1500 จองได้

    Package 3 : Animal Planet Trip โทรสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม



    ติดต่อ

    Mobile : 086 - 9539914

    Email :wetlandcamp@gmail.com

    https://www.facebook.com/wetlandcamp

ข้อมูลเพิ่มเติม:Mobile : 086 - 9539914
Email :wetlandcamp@gmail.com
https://www.facebook.com/wetlandcamp

แก้ไขล่าสุด 2016-04-29 18:07:56 ผู้ชม 18430

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
เดินทางสู่ปากประ

เดินทางสู่ปากประ เส้นทางการเดินทางไปบ้านปากประ ผมเล่าไปบ้างแล้วทั้งการเดินทางจากอำเภอควนขนุน แล้วก็ระโนด แต่ความเป็นจริงของการเดินทาง เรามาปากประเป็นครั้งแรก เราไม่ได้มาทางที่ถูกต้อง แต่เรามาผิดทางต่างหาก เส้นทางทางหลวงหมายเลข 4048 ควนขนุน ไปยัง ทะเลน้อย มีเส้นทางเล็กๆ แยกทางขวามือ ไปบ้านปากประ ซึ่งความจริงมันก็ไปได้จริงๆ แต่มีเส้นทางช่วงหนึ่งเป็นทางลูกรัง ขรุขระและดูเปลี่ยว พอเราข้ามสะพานปากประ เราเห็นบ้านเรือนผู้คนตามริมคลอง มีป่าชายเลนปกคลุม มียอขนาดใหญ่มากที่เราเรียกว่ายอยักษ์เรียงรายอยู่ริมน้ำที่หน้าบ้าน ทันทีที่เห็นเราจอดรถกลางสะพานถ่ายรูปนี้กันจนพอสมควรแล้วก็ออกเดินทางต่อ เส้นทางขรุขระเลียบคลอง ข้ามสะพานอีกหลายครั้ง ไกลจนเราคิดว่ามันผิดทางแน่ๆ ในที่สุดเราก็กลับรถแล้วโทรถามทางกับ Wetland ในที่สุดเราก็ออกไปตามทางหลวงหมายเลข 4048 มุ่งหน้าสู่ทะเลน้อยอีกครั้ง

ทีนี้เมื่อมีข้อมูลการเดินทางที่ถูกต้อง เราก็ไปยังรีสอร์ท เก็บข้าวของทักทายพี่หนุ่มเจ้าของรีสอร์ท เวลายังพอมีเราถ่ายรูปรอบรีสอร์ทไปนิดหน่อย เพราะวันนี้โชคไม่เข้าข้างพวกเราเลย ท้องฟ้าครึ้มเหมือนฝนจะตก คงไม่ได้รูปสวยๆ ก็เลยขับออกมาจากรีสอร์ทมุ่งหน้าไปยังถนนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สะพานข้ามทะเลน้อย อันเป็นสะพานที่ยาวที่สุดในประเทศไทย กะว่าจะถ่ายรูปพระอาทิตย์ตก แต่ก็อย่างว่าวันนี้ฟ้าปิด ไม่เห็นดวงอาทิตย์

ควายน้ำ

ควายน้ำ รอบๆ บริเวณถนนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ด้านล่างคือทะเลน้อย พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ลุ่มมีน้ำสลับกับดิน นี่ก็ต่างจากที่เราจินตนาการเอาไว้เยอะ นึกว่าจะได้เห็นผืนน้ำกว้างขวางเหมือนกับทะเล แต่อาจจะเป็นเพราะเรามาเดือนเมษายน น้ำก็เลยแห้ง แต่เราก็ได้เห็นวิถีชีวิตของคนที่อาศัยพื้นที่โล่งกว้างแห่งนี้ เป็นที่เลี้ยงสัตว์ มีทั้งวัวและควาย เจ้าของควายจะทำสัญลักษณ์ติดไว้ที่หูของพวกมัน เพราะมีควายอยู่หลายฝูงถ้าไม่ทำสัญลักษณ์เอาไว้ก็คงจะสับสนกันได้ง่าย ถ้าไม่มายืนมองอยู่แบบนี้เราก็ไม่รู้ว่าควายพวกนี้มาจากที่ไหน ที่แท้เขาเลี้ยงเอาไว้ในคอกเหมือนๆ กับควายบก แต่เวลาปล่อยมันออกหากิน ฝูงควายเหล่านี้เลือกที่จะลงน้ำ ดำน้ำหาหญ้ากับสายบัวกิน ตกเย็นเจ้าของควายจะเอาเรือมาต้อนควายเข้าคอก คนยืนอยู่บนเรือ แล้วใช้ไม้ถ่อต้อนควายไปตามทางที่ต้องการ บางคนก็เลี้ยงวัว แต่วัวนั้นไม่ค่อยชอบน้ำมันก็จะนอนเอกเขนกกันบนบก

Wetlandcamp

ท้ายที่สุดเราก็กลับที่พัก เราสั่งอาหารเย็นแล้วก็กินกันจนอิ่มก่อนที่จะเข้านอนเราก็ต้องมีการเก็บภาพบรรยากาศของ Wetlandcamp เอาไว้บ้าง ลืมบอกไปอย่างว่า ตรงทางเข้าสวนพฤกษศาสตร์จังหวัดพัทลุง จะมีทางแยกมา Wetland เค้าจะเขียนป้ายว่า บ้านชายเล นะครับ แต่คงหาไม่ยากเพราะมีทางแยกทางเดียวก่อนถึงสวนพฤกษศาสตร์

แรกเริ่มที่ก้าวเดินเข้ามาในรีสอร์ท เราจะเห็นสะพานไม้ ที่ด้านล่างเป็นดินสลับกับน้ำ บรรยากาศแบบรกๆ นิดๆ แต่ไม่ถึงกับน่ากลัว ระหว่างเดินเข้ารีสอร์ทยังมีคนเห็นงูเลื้อยผ่านหน้าไป เป็นงูไม่มีพิษ แต่ก็ตอกย้ำให้เราได้รู้ว่า ที่นี่กินอยู่กับธรรมชาติ อาจจะดูดิบๆ ไปหน่อย เพราะที่นี่เรียกกันอีกชื่อว่า อะเมซอนเมืองไทย แต่ปลอดภัยครับ หลังจากตะวันลับขอบฟ้า เหลือแต่แสงไฟ รอบรีสอร์ท บรรยากาศก็จะเป็นอีกแบบ บ้านพักติดน้ำทุกหลังแต่ละหลังเป็นกระจกล้อมด้านหน้ามองเห็นวิวทะเลน้อย มีระเบียงให้ออกมานอนรับลมเย็นสบายที่พัดจากผืนน้ำเข้าหาฝั่ง คล้ายกับริมทะเล แต่ที่นี่น้ำกร่อย ไม่ใช่น้ำเค็ม ลมที่พัดมาก็เลยไม่ทำให้เรารู้สึกเหนียวตัว ส่นหนึ่งของรีสอร์ทแบ่งเป็นระเบียงสำหรับอาหารมื้อเย็น หรือมื้ออื่นๆ แล้วยังเป็นท่าเรือสำหรับลงเรือเที่ยวทะเลน้อยด้วย ส่วนที่เราเห็นเป็นล๊อบบี้ ตกกลางคืนกลายเป็นลานกางเต็นท์สำหรับผู้ที่อยากจะมาสัมผัสบรรยากาศของที่นี่แต่ห้องพักเต็ม พี่หนุ่มเจ้าของรีสอร์ทยังเล่าให้ฟังว่า ระยะหลังๆ คนรู้จัก Wetlandcamp มาขึ้น ห้องพักไม่เคยว่าง บางวันคนมานอนกันหลังเดียว 7 คน ก็มี ท้ายที่สุดถ้าไม่ได้ห้องพัก ก็จะนอนกางเต็นท์ในล๊อบบี้ที่ดูเหมือนจะกางได้ 6 หลัง โดยประมาณ ส่วนระเบียงท่าเรือก็กางได้อีก 2-3 หลัง แต่ไม่มีหลังคาซึ่งไม่เหมาะสำหรับวันที่ฝนตก แต่ก็ยังเห็นมีคนมากาง 2 หลัง

ทะเลน้อย

ทะเลน้อย เช้ามืดของวันแรกที่เรามาพักที่นี่ เราใช้บริการเรือนำเที่ยวของรีสอร์ท พี่หนุ่มจัดเตรียมไว้ให้ 1 ลำ นั่งได้ถึง 5 คน สบายไปเลย เพราะเรามากัน 5 คนพอดี คนขับเรือจะถ่อเรือออกไปกลางน้ำจากท่าหน้ารีสอร์ท เวลาประมาณ ตี 5 กว่าๆ เรือจะมารอเรา เพราะเราต้องการภาพพระอาทิตย์ขึ้น ก็มีเวลาประมาณ เกือบครึ่งชั่วโมง ในการเก็บภาพยอยักษ์กลางน้ำที่มีอยู่เป็นร้อยหลังให้เราเลือก ชอบมุมไหนก็บอกคนขับเรือได้ตลอดเวลา สนนราคาเรือนำเที่ยวช่วงเช้ามืด 6 โมงเช้า ถึง 8 โมงเช้า 2 ชั่วโมงโดยประมาณ ลำละ 800 บาท สำหรับ 5 คน แล้ว ราคานี้นับว่าถูกมากหากเทียบกันกับเรือนำเที่ยวในที่อื่นๆ ที่เคยไปมา

ยอยักษ์

ยอยักษ์ ภาพยอขนาดใหญ่กลางน้ำท่ามกลางแสงตะวันที่กำลังจะโผล่ขึ้นมา ไล่ความมืดออกจากท้องฟ้า เป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนรอคอย พี่หนุ่มบอกว่าภาพที่ถ่ายได้สวยๆ ได้มาจากการลงไปยืนอยู่ในน้ำ พร้อมกับขาตั้งกล้อง แกบอกให้ผมลงน้ำ อันที่จริงผมก็ไม่ใช่ว่าจะไม่อยากลง แต่บังเอิญว่าขาตั้งกล้องของผมมันสั้น ระดับน้ำในทะเลน้อยประมาณหน้าอก เป็นเรื่องน่าแปลกและไม่น่าเชื่อ ผืนน้ำที่กว้างใหญ่เบื้องหน้าที่ดูแล้วน่าจะลึกเอามากๆ กลับมีความลึกเพียงเมตรกว่าๆ ในที่สุดผมก็ได้แต่บอกให้คนขับเรือเปลี่ยนมุมไปเรื่อยๆ ยอยักษ์ที่ปากประ มีจำนวนมากมายไม่น่าจะต่ำกว่า 100 หลัง มีทั้งยอเดี่ยวและยอคู่ คือมียอ 2 ด้านในหลังเดียวกัน เราก็จะต้องเลือกยอที่อยู่เดี่ยวๆ หน่อย พอที่จะหามุมในการถ่ายยอให้ดูไม่รกจนเกินไป แสงตะวันที่สาดส่องขึ้นมาจากขอบฟ้าของแต่ละวันไม่เหมือนกัน หลายคนบอกว่าถ้าได้มาอยู่ที่นี่นานๆ ก็ถ่ายรูปยอนี้ได้แบบไม่เบื่อ ถ้าชอบการพายเรือที่รีสอร์ทมีเรือให้บริการพายเองได้ด้วยครับ

Wetlandcamp

ภาพยอยักษ์ภาพนี้เป็นภาพที่ถ่ายในเช้าวันที่สองที่เราเข้าพัก นี่เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้ชมยอยักษ์กลางทะเลน้อยที่ปากประ พร้อมกับพระอาทิตย์ขึ้น เพราะเราเข้าพักที่นี่ 2 คืน เช้าวันแรกเราไม่ได้เห็นพระอาทิตย์ สร้างความผิดหวังให้เรามาก เนื่องจากลมมรสุม เราก็เลยตั้งความหวังไว้กับเช้าวันที่สอง แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่เห็นพระอาทิตย์ขึ้นเหมือนกัน แสงสว่างที่เริ่มแผ่ออกมาจากขอบฟ้า จึงเป็นเพียงสิ่งเดียวที่จะเติมแต่งให้ภาพดูมีชีวิตชีวา เราใช้บริการเรือนำเที่ยวของ Wetlandcamp อีกครั้งแบบวัดดวง เรือมารับตรงตามกำหนดเวลา อีกไม่นานเราก็จะไปอยู่ที่ยอหลังริมสุดเพื่อไม่ได้ภาพออกมารกรุงรังจนเกินไป

Wetlandcamp

เรือพาเราไปตรงที่มียออยู่แถวนอกสุด ไม่ให้ด้านหลังมียอซ้อนกันจะดูเป็นภาพรกๆ ระหว่างการเดินทางก็อาศัยจังหวะหามุมถ่ายรูปอีก 2-3 รูป แสงในเช้าวันที่สองดูเหมือนจะดีกว่าวันแรก เราต้องรีบไปให้ถึงยอยักษ์ที่เล็งเอาไว้ กลุ่มยอยักษ์เหล่านี้มีมากมายเรียงรายตั้งแต่ปากประเรื่อยไปจนถึงกลางน้ำทะเลน้อย ห่างจากฝั่งไปหลายร้อยเมตร ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าการจองทำเลสำหรับสร้างยอเป็นเรื่องของความเร็ว ใครอยากจะสร้างตรงไหนก็ลงมือสร้างได้เลย มาก่อนได้ที่ก่อน แต่รู้สึกว่าเรื่องที่สร้างยอไม่ใช่ปัญหาสำหรับคนแถวนี้เพราะน้ำที่นี่กว้างพอที่จะให้ทุกคนสร้างยอได้หลายๆ หลัง ซึ่งการมียอจำนวนมากก็ไม่ได้หมายความว่าจะจับปลาได้มาก มันขึ้นอยู่กับดวงด้วย ที่สำคัญจำนวนยอมากมายกลางน้ำบางทีก็ทำให้สับสนได้ด้วยนะครับ แปลกที่ชาวบ้านแถวนี้จำกันได้ว่ายอหลังไหนเป็นของใคร

ปากประ

ปากประ ห่างออกมาจากบริเวณที่คลองลงมาบรรจบกับทะเลน้อยที่เรียกกันว่าปากประนี้ เราเลือกยอหลังหนึ่งที่อยู่ไกลสุดเป็นเป้าสำหรับการเก็บภาพยอยักษ์กับแสงอาทิตย์ในรุ่งอรุณ เห็นได้ชัดว่าเราโชคดีกว่าเมื่อวานแต่ก็ยังดูเหมือนว่าจะยังไม่ดีพอ อย่างน้อยก็ยังมีแสงสว่างส่องลงมาจากท้องฟ้าเบื้องบน ท่ามกลางเมฆครึ้มที่ดูน่ากลัวว่าฝนจะตกได้ตลอดเวลา แต่นี่ก็เป็นเสน่ห์ของการเที่ยวภาคใต้ ฝนจะมาได้ทุกเมื่อ การเตรียมตัวในการล่องเรือเที่ยวจะดีมากถ้าเราเอาถุงไปสักใบสำหรับป้องกันอุปกรณ์กล้อง เช่นเอาถุงใส่กล้อง หรือไม่ก็เอาใบใหญ่ๆ หุ้มกระเป๋ากล้องทั้งใบ

ปากประ

ปากประ จากภายนอกกลางผืนน้ำเวิ้งว้าง เรือนำเที่ยวพาเราวกกลับเข้าหาฝั่งแล้วเลยไปทางด้านคลองตรงปากน้ำ บริเวณนี้ชาวบ้านสร้างยอยักษ์เรียงรายกันหนาแน่นกว่าบริเวณอื่นๆ จากในคลองถ้าเรามองย้อนออกมากลางทะเลน้อย ยอจำนวนนับไม่ถ้วยเรียงซ้อนกัน รกรุงรังไปหมด ในเวลาเช้าเจ้าของยอเหล่านี้จะออกมายกยอ สำหรับยอยักษ์คงจะยกธรรมดาๆ เหมือนยอเล็กทั่วไปไม่ได้ ต้องใช้การปีนขึ้นไปบนคานถ่วงน้ำหนัก ยิ่งเดินไปปลายคานมากเท่าไหร่ ยอก็จะถูกยกให้สูงขึ้นเท่านั้น แล้วพอยอมันลอยขึ้น เราก็ต้องเดินบนคานเข้าหาจุดหมุน แล้วใช้ไม้ที่มีตาข่ายเย็บเป็นถุงยื่นลงไปเก็บกุ้งปลาที่อยู่ในยอ

เดือนเมษายน เป็นฤดูแล้งของที่นี่เหมือนกับภาคอื่นๆ เพียงแต่ความแห้งแล้งไม่เลวร้ายจนน้ำแห้งหายไปหมด มีฝนตกลงมาเรื่อยๆ ยามนี้เป็นช่วงที่จะจับปลา จับกุ้งด้วยยอยักษ์ได้ไม่มากเหมือนหน้าน้ำ ชาวบ้านจะเริ่มคิดถึงเรื่องการรื้อยอ ฟังทีแรกผมก็แปลกใจ ยอเหล่านี้มีขนาดใหญ่ การจะสร้างขึ้นมาแต่ละหลังดูเหมือนไม่ใช่ง่ายๆ คิดว่าชาวบ้านจะสร้างครั้งเดียวแล้วใช้ไปตลอดทั้งปี แต่ความจริงแล้วเปล่าครับ ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าจะมีการรื้อยอออกไป ในระหว่างฤดูแล้งซึ่งจับปลาได้น้อย แล้วหน้าน้ำปีหน้าค่อยมาสร้างกันใหม่

Wetlandcamp

การเก็บภาพสวยๆ หลายภาพที่เราเห็นอยู่ในเว็บโดยเฉพาะเว็บของ Wetlandcamp เอง จะใช้มุมในการถ่ายภาพอย่างที่เห็นนี้ละครับ เจ้าของรีสอร์ทพานักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเพื่อเก็บภาพโดยเฉพาะลงไปอยู่ในน้ำพร้อมกับขาตั้งแล้วก็กล้อง จากนั้นก็รอเวลาพระอาทิตย์โผล่ขึ้นมา น้ำในทะเลน้อยที่เราเห็นกว้างใหญ่ไพศาลใครจะรู้ละครับว่าส่วนใหญ่ลึกแค่ระดับอกเท่านั้นเอง

ถนนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา

ถนนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เป็นถนนที่ตัดผ่านทะเลน้อย โดยการสร้างสะพานหรือทางยกระดับ ยาวต่อเนื่องข้ามผืนดินและผืนน้ำเบื้องล่าง เป็นสะพานที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ตอนที่เดินทางมาถึงรีสอร์ทเราก็มาเที่ยวชมสะพานแห่งนี้ด้วยการขับรถมา พอมาถึงช่วงล่องเรือเที่ยว เราก็ได้มาลอดสะพานแห่งนี้ อีกครั้ง ทะเลน้อยเป็นพื้นที่น้ำที่มีส่วนติดต่อกันกับทะเลสาบสงขลา สำหรับนักท่องเที่ยวอย่างเราคงไม่สามารถบอกได้ว่าตรงไหนเป็นจุดแบ่งของทะเลน้อยกับทะเลสาบสงขลา โปรแกรมนำเที่ยวของ Wetlandcamp มีเวลา 2 ชั่วโมง ต่อเที่ยว เรือจะพาเราเดินทางไปยังจุดชมนกน้ำจำนวนมหาศาล ทะเลบัวแดง และฝูงควายน้ำมากมายที่หาหญ้ากินด้วยการดำน้ำ เราเลือกออกเดินทางตอนเช้า ตั้งแต่ 6 โมงเช้า เพื่อใช้เรือในการถ่ายรูปยอยักษ์ ก่อนที่จะเดินทางไปชมนกชมควาย เวลาในการถ่ายรูปยอก็ประมาณ ครึ่งชั่วโมงเข้าไปแล้ว เราก็เลยมีเวลาเหลือประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง จากกลุ่มยอ เดินทางมาถึง ถนนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ก็ใช้เวลาประมาณ 10 นาทีครับ บริเวณสะพานยาวแห่งนี้ เป็นพื้นที่ที่มีนกหลายชนิดรวมกลุ่มหากิน เราจะพบนกจำนวนมากมายให้เลือกถ่ายรูปกันได้เรื่อยๆ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการดูนก

นกน้ำทะเลน้อย

นกน้ำทะเลน้อย ภาพนกจำนวนหนึ่งที่ผมเลือกเอามาให้ชมกัน ยังมีอีกมากมายหลายรูปแต่คงจะลงทั้งหมดไม่ไหว สิ่งหนึ่งที่ประทับใจมากก็คือการได้พบเหยี่ยวที่นี่ด้วยครับ แต่เหยี่ยวเป็นนักล่าที่ระวังตัวมาก เราจะถ่ายรูปมันได้ไกลๆ เท่านั้น พอเรือเข้าไปใกล้มันก็จะบินหนีไป

ศาลากลางน้ำ

ศาลากลางน้ำ ขับรถไปตามถนน เดี๋ยวก็จะมีจุดพักรถ แล่นเรือในทะเลน้อย ก็จะมีจุดพักเรือ ศาลากลางน้ำหลังนี้สร้างขึ้นมาพร้อมกับห้องน้ำ 2 ห้อง อยู่ประมาณกลางทางจากปากประไปยังดงบัวแดง เป็นจุดแวะพักที่เหมาะเจาะมาก โดยเฉพาะเมื่อมีห้องน้ำบริการด้วย นักท่องเที่ยวที่ล่องเรือเที่ยวก็จะได้มีห้องน้ำใช้ ก่อนที่จะไปถึงศาลากลางน้ำหลังนี้ พื้นที่โดยรอบเป็นดงบัวหลวง กว้างขวางพอที่จะเก็บภาพดอกบัวใหญ่ๆ ทั้งสีขาวและสีชมพูอย่างสนุกสนาน

บัวแดงทะเลน้อย

บัวแดงทะเลน้อย จากศาลากลางน้ำที่เราแวะ ดื่มกาแฟ กินไก่ทอด เข้าห้องน้ำกันเรียบร้อยแล้ว ก็เป็นเวลาในการเลาะเที่ยวทะเลบัวแดง บรรยากาศที่นี่แตกต่างไปจากทะเลบัวแดงที่หนองหาน กุมภวาปี จังหวัดอุดรธานีอยู่นิดหน่อย คือที่นี่ไม่ได้มีแต่บัวขึ้นหนาแน่นเต็มพื้นที่ แต่บัวที่นี่สลับกับพืชชนิดอื่นๆ หลายอย่าง เป็นแหล่งอาหารชั้นดีของนกน้ำนานาชนิด สีชมพูของบัวแดงดอกใหญ่ๆ สลับกับสีเขียวอ่อน เป็นภาพที่น่าประทับใจ โดยเฉพาะยามที่เราได้เห็นนกสวยๆ แปลกๆ ที่ไม่เคยเห็นที่ไหนบินโฉบลงมาหากินกลางดงบัว เรือนำเที่ยวจากหลายๆ ที่จะมารวมกันอยู่ที่นี่ เพราะการเที่ยวทะเลน้อยเป็นที่นิยมขึ้นมาอย่างมากในระยะหลังๆ รีสอร์ทเกิดขึ้นหลายแห่ง แต่ละแห่งก็จะมีบริการเรือนำเที่ยว เป็นส่วนหนึ่งของบริการ ซึ่งเส้นทางการล่องเรือก็จะเป็นไปตามที่รีสอร์ทกำหนด เรามาที่นี่ครั้งแรกก็ไม่มีความรู้มากนัก คนขับเรือที่เรานั่งได้อธิบายเรื่องเส้นทางนำเที่ยวคร่าวๆ พอให้รู้ว่ามีเส้นทางล่องเรือเที่ยวหลักๆ อยู่ 2 เส้นทาง เส้นทางที่เรามาในวันนี้จะเป็นเส้นทางที่ได้รับความนิยมที่สุด คือได้ชมฝูงควายน้ำ แล้วก็ดงบัวแดง

บัวแดงทะเลน้อย

บัวแดงทะเลน้อย

ดงบัวแดง

ดงบัวแดง

ดงบัวแดง

ดงบัวแดง

ฝูงนกเป็ดน้ำ

ฝูงนกเป็ดน้ำ ภาพอีกภาพหนึ่งที่ผมอยากจะได้จากการล่องเรือเที่ยวทะเลน้อยก็คงไม่พ้นภาพฝูงนกเป็ดน้ำยามที่กำลังบินขึ้นสู่ท้องฟ้า นกเป็ดน้ำเป็นนกที่พบเห็นได้มากที่ทะเลน้อย อีกชนิดหนึ่งก็คือนกกาน้ำ แล้วก็นกน้ำชนิดอื่นๆ ที่นิยมอยู่เป็นฝูงอีกมากมาย อย่างนกกระสา นกกระยาง นกกระสาแดง บางทีถ้าโชคดีก็จะได้เห็นนกช้อนหอย ด้วย ภาพฝูงนกเป็ดน้ำที่ตกใจเสียงเรือของเราพากันบินขึ้นจากผิวน้ำกันวุ่นวาย เป็นภาพที่ถ่ายได้ระหว่างการเดินทางกลับที่พัก หลังจากที่เราใช้เวลากันที่ดงบัวแดงอยู่นาน ตอนนี้ก็ใกล้ครบ 2 ชั่วโมงตามโปรแกรมล่องเรือเที่ยวแล้วครับ

วิถีชีวิตทะเลน้อย

วิถีชีวิตทะเลน้อย นอกเหนือจากการเที่ยวชมนก ควายน้ำ บัวแดง สิ่งหนึ่งที่เราจะได้เห็นระหว่างนั่งเรือเที่ยวก็คือ ชาวประมง ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆ ทะเลน้อยและทะเลสาบสงขลา อาศัยผืนน้ำที่กว้างใหญ่ในการทำมาหากิน วิธีการจับปลาแบบต่างๆ เราจะได้เห็นกันที่นี่นี่เอง

ชมวิวระหว่างทาง

ชมวิวระหว่างทาง

นกน้ำ-ทะเลน้อย

นกน้ำ-ทะเลน้อย ช่วงหนึ่งของการล่องเรือเที่ยวจะมีเส้นทางช่วงหนึ่งก่อนถึงศาลาที่พักกลางน้ำ เรียกกันว่าดงกระจูดหนู กระจูดหนูเป็นพืชชนิดหนึ่ง ดูไกลๆ คล้ายต้นหอม อยู่กันเป็นดงกว้างหนาแน่น เป็นคนละชนิดกับกระจูดที่ชาวบ้านนำเอาไปจักสานเป็นผลิตภัณฑ์ชื่อดัง แต่กระจูดหนูเป็นกระจูดที่สานไม่ได้ การที่มันขึ้นอยู่เป็นดงใหญ่ ก็เลยเป็นที่อาศัยของนกน้ำหลายชนิดได้ภาพที่สวยๆ หลายภาพจากดงกระจูดหนูนี่ละครับ

ฝูงนกที่ทะเลน้อย

ฝูงนกที่ทะเลน้อย ช่วงหนึ่งของพื้นที่ที่เรียกกันว่าคลองลาโพ เป็นพื้นที่ที่ปกติแล้วคนขับเรือนำเที่ยวทั่วไปจะไม่ค่อยนำนักท่องเที่ยวเข้ามา เพราะคลองลาโพเป็นพื้นที่อนุรักษณ์พันธุ์นกน้ำที่สำคัญ เป็นแหล่งทำรังและขยายพันธุ์ตามธรรมชาติของนกน้ำเกือบทั้งหมดของที่นี่ เป็นพื้นที่ที่จะพบนกน้ำได้เยอะมากและมีความแตกต่างทางด้านสายพันธุ์ของนกด้วย คือมีหลายชนิดและชนิดละหลายตัวนั่นเอง คนขับเรือนำเที่ยวให้เราในวันที่สองของการพักแรมที่ Wetlandcamp เป็นสมาชิกของชมรมอนุรักษ์นกน้ำที่นี่ มีความรู้เรื่องเส้นทางในทะเลน้อยเป็นอย่างดี การล่องเรือเที่ยวของเราในสองวันก็เลยเป็นคนละเส้นทางกัน ทั้งสองเส้นทางเราก็พบสิ่งใหม่ๆ น่าสนใจหลายอย่าง แตกต่างกันไป ถ้าจะให้แนะนำคงแนะนำไม่ถูก และอีกอย่างเท่าที่ได้คุยกับคนขับเรือก็พูดตรงกันว่า ส่วนมากไม่ค่อยมีเรือพาเราเข้าคลองลาโพ สักเท่าไหร่ เส้นทางนี้ค่อนข้างไกลมากด้วยครับ ถ้าเข้ามาที่นี่มักจะใช้เวลาเกิน 2 ชั่วโมง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับเจ้าของเรือ

บัวแดงทะเลน้อย

บัวแดงทะเลน้อย ในคลองลาโพ มีลักษณะเป็นคลองจริงๆ แต่ถ้าเรามองภาพจากมุมสูงคลองสายนี้ก็เหมือนคลองที่พาดผ่านทะเลสาบ สองฝั่งคลองจะว่าเป็นดินก็ไม่เชิง บางช่วงก็มีลักษณะเป็นที่ลุ่มชุ่มน้ำ และป่าชายเลน คลองลาโพเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญภายในพื้นที่ทะเลน้อยและทะเลสาบสงขลา นอกเหนือจากนั้นบริเวณนี้ยังเป็นที่ทำรังของนกน้ำหลายชนิดอย่างที่เล่าไปแล้ว สุดยอดกว่านั้นอีกก็คือบัวแดงจำนวนมหาศาลในคลองลาโพ มีพื้นที่ว่างตรงกลางของคลองเป็นที่ที่เรือแล่นผ่านไปได้ ที่เหลือมีบัวแดงขึ้นแน่นขนัดไปหมด ตอนที่เราเห็นบัวเหล่านี้แรกๆ ก็พากันพยายามถ่ายรูปบัวตอนที่เรือยังแล่นอยู่ เพราะกลัวว่าพี่คนขับเรื่อจะไม่จอด จนพี่เค้าบอกว่าใจเย็นๆ อย่าเพิ่งถ่ายรูปเดี๋ยวจะหาที่จอดให้ถ่ายสวยๆ เลย ก็ได้ออกมาเป็นมุมนี้ละครับ บัวแดงขึ้นหนาเป็นแนวตามแนวคลอง ยาวสุดสายตายากที่จะบรรยายหรือถ่ายทอดด้วยภาพได้ อยากจะให้ได้มาเห็นด้วยตัวเองจริงๆ มันแตกต่างจากทะเลบัวแดงที่เราเห็นแผ่ไปทั่วบริเวณ บัวที่นี่ขึ้นเรียงเป็นแนวริมคลอง ยาวๆๆๆ มากจริงๆ

บัวแดง-ทะเลน้อย

บัวแดง-ทะเลน้อย

บัวแดงกับชายเลน

บัวแดงกับชายเลน

ทะเลบัวแดง

ทะเลบัวแดง

ดงบัวขาว

ดงบัวขาว เป็นดอกบัวขนาดเล็กๆ ที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มเฉพาะสีขาวล้วนๆ เท่านั้น บัวขาวกลุ่มนี้อยู่ในคลองย่อยเล็กๆ ที่แยกออกจากลาโพ ดูน่าประหลาดใจที่บัวขาวขึ้นอยู่ที่หนึ่งแยกตัวออกไปจากกลุ่มบัวแดง เหมือนจงใจปลูกขึ้นให้เป็นแบบนั้น

ควายน้ำ

ควายน้ำ ภาพฝูงควายน้ำที่หากินอยู่กลางน้ำ เป็นแถวเป็นแนวครึ่งตัวอยู่ในน้ำจนมองเห็นแต่ส่วนครึ่งบนและเขาแหลมๆบนหัว พอเรือมาใกล้ควายพวกนี้ก็ตกใจและพยายามเดินออกให้ห่าง

อุทยานนกน้ำทะเลน้อย

อุทยานนกน้ำทะเลน้อย บ้านพักสำหรับเจ้าหน้าที่มาประจำการตรวจตราบริเวณพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์นกน้ำในอุทยานนกน้ำทะเลน้อย รอบๆ บ้านพักจะมีคลองคดเคี้ยวไปมา สำหรับวันที่สองที่คนขับเรือพาเราเข้า Route ที่ 2 จะแล่นเรือไปตามคลองเล็กๆ ใกล้บ้านพักนี้ด้วย มีนกน้ำให้ชมและถ่ายรูปแบบนับไม่ถ้วนเลยทีเดียว

เหยี่ยว

เหยี่ยว เป็นนกที่หาชมไม่ได้ง่ายนักถ้าเป็นช่วงนอกฤดูกาลอพยพของเหยี่ยว เท่าที่เห็นเราพบเหยี่ยวแค่ 2 ตัว เท่านั้น เวลาเรือเข้าใกล้มากๆ เหยี่ยวจะบินหนีเพื่อความปลอดภัย คนขับเรือตาดีมากจะมองเห็นเหยี่ยวก่อนเราแล้วบอกให้เราหันไปถ่ายรูปก่อนที่มันจะบินหนึไป

Wetlandcamp

ยอยักษ์จำนวนนับร้อยที่อยู่ตรงปากประ และ รีสอร์ทก็อยู่บริเวณนี้ด้วย เวลากลางวัน ภาพยอยักษ์มากมายเรียงรายในผืนน้ำใกล้ป่าชายเลน เป็นบรรยากาศที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการถ่ายรูปยอยักษ์หลังเดี่ยวๆ ในเวลาเช้า

Wetlandcamp

หมดเวลาการล่องเรือเที่ยว 2 ชั่วโมงสำหรับ Route แรก และ 3 ชั่วโมง สำหรับวันที่สอง คนขับเรือจะพาเรามาส่งที่รีสอร์ท บ้านพักของเราอยู่หลังแรกจากซ้ายมือ มีต้นไม้บังพอดี ในเวลากลางวันถ่ายรูปวิวลำบาก คราวหน้าถ้าได้มานอนที่นี่อีกต้องเลือกหลังที่ 3 จากซ้ายมือ วิวสวยแน่

Wetlandcamp

ยอยักษ์

ยอยักษ์ ปิดภาพท้ายๆ ด้วยภาพแนวขาวดำ พอดีระหว่างที่เราอยู่ที่นี่ได้ชมผลงานการถ่ายภาพของพี่หนุ่มเจ้าของรีสอร์ท พี่เค้าชอบถ่ายภาพขาวดำ แนว life จะมีให้ชมหลายภาพ ดูคล้ายๆ กับว่า รีสอร์ทแห่งนี้เป็นแกลเลอรี่แสดงภาพของแกเลยทีเดียว สนใจอยากสัมผัสกับบรรยากาศการพักผ่อนใหม่ๆ ลองไปที่นี่ดูครับไม่ผิดหวัง สมคำว่า อะเมซอนเมืองไทย เลยทีเดียว

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ Wet land camp
ศรีปากประ รีสอร์ท
  0.32 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศรีปากประ อันดาคูรา บูติก รีสอร์ต พัทลุง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.70 km | แผนที่ | เส้นทาง
เลอ นัว แบรี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.68 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้าน แสน รัก อพาร์ตเมนต์ แอนด์ เอ็กซ์คลูซีฟ โฮสเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  22.48 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเดอะเซ็นทริส พัทลุง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  22.86 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเมอร์เดอลอง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  22.99 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ รูม พัทลุง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  23.37 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมซิตี้ปาร์ค เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  24.06 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรม ฮอลิเดย์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  24.28 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมแกรนด์ พีแอล วีล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  24.37 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com